Select Page

แนวคิดก่อนการติดตั้งเครื่องเสียงรถยนต์

แนวคิดก่อนการติดตั้งเครื่องเสียงรถยนต์

ประเมินสถานะภาพของรถยนต์ก่อน

สิ่งแรกที่จะต้องรู้สำหรับการเลือกซื้ออุปกรณ์อะไรสักอย่างหนึ่ง แน่นอน…ต้องก่อนรู้ว่า…เมื่อซื้อมาแล้ว… จะนำมันไปใช้กับอะไร และแบบไหน เครื่องเสียงก็เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเครื่องเสียงรถยนต์ ที่เราต้องเข้าใจถึงสภาพของรถ และรูปแบบของรถเสียก่อน เพื่อเป็นแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการเลือกซื้อ เพราะว่ามันก็มีอุปกรณ์บางอย่างเหมือนกัน… ที่มีการออกแบบมาอย่างใช้เฉพาะเจาะจง ถ้าใช้ผิดรูปแบบ อาจทำให้ได้คุณภาพที่ไม่คุ้มกับราคา… นอกจากนั้น มันยังสามารถที่จะช่วยให้เราออกแบบระบบ ให้มีความลงตัวได้ง่ายขึ้น และยังสามารถจัดสรรงบประมาณได้ง่ายขึ้นอีกด้วย…

  • รถเก๋งแบบ SEDAN

รถเก๋งแบบ SEDAN หรือรถเก๋งแบบ 4 ประตู โดยทั่วไปตามมาตรฐานการผลิตจากโรงงานแล้ว จะมีช่องสำหรับใส่เฮดยูนิตที่ตรงตามมาตรฐาน DIN Sized คือ กว้าง 7.5 นิ้ว และ สูง 2.5 นิ้ว ส่วนลำโพงนั้น มักจะเป็นในรูปแบบของ ลำโพงขนาด 6.5 นิ้ว ที่แผงประตูหน้าทั้งสองข้าง ส่วนที่แผงหลังของตัวรถนั้น ถ้าไม่เป็นลำโพง 6 x 9 นิ้ว ก็จะเป็นขนาด 6.5 นิ้ว ฝังอยู่ที่สองฝั่งของแผงหลังนั่นเอง…

  • รถกระบะ หรือ PICKUP

ในกรณีนี้จะขอเจาะจงเฉพาะแบบมีที่นั่งหลังคนขับ หรือมี CAP ก็แล้วกัน… กล่าวคือในรถจำพวกนี้ มันจะมีช่องสำหรับใส่เฮดยูนิตที่ดูจะใหญ่กว่ารถเก๋งแบบ Sedan อยู่บ้างเล็กน้อย แล้วตามมาตรฐานโรงงานแล้ว มักจะมีการติดตั้งลำโพงขนาด 4 x 6 นิ้ว ที่ด้านข้างของ CAP หลัง และลำโพงขนาด 6.75 นิ้ว ที่ประตูด้านหน้าทั้งสองข้าง การที่เราจะสร้างเสียงแบบ Hi-End ใน รถพวกนี้ ควรจะต้องให้ได้เสียงในลักษณะที่สะอาด และมีเบสที่ทุ้มต่ำจริงๆ เพื่อไม่ให้เกิดการกวนอารมณ์ของผู้โดยสาร เนื่องจากว่ามันมีห้องโดยสารที่มีขนาดเล็กมากนั่นเอง

  • รถในแบบตรวจการ SUV หรือ Mini VAN

รถ พวกนี้โดยมากที่ออกจากโรงงานมาโดยตรง มักจะมีช่องสำหรับใส่ เฮดยูนิต ที่ใหญ่เป็นพิเศษ ถ้าจะเปลี่ยนมาใช้เฮดยูนิต แบบมาตรฐานทั่วไป จะต้องทำการติดตั้งชุด KID DIN size เข้าไปเสียก่อนด้วย ในส่วนของลำโพงนั้น โดยมากแล้ว มักจะมีการติดตั้งลำโพงขนาด 6 x 8 นิ้ว ที่ประตู หน้า/หลัง ทั้งสองข้างมาให้จากโรงงาน รถจำพวกนี้ ถ้าต้องการที่จะสร้างเสียงให้ได้แบบ Hi-End จริงๆแล้ว จำเป็นที่จะต้องวางระบบให้ได้เสียงที่สะอาด และมีเบสที่ชัดเจน ไม่คลุมเครือ หรือถ้าจะให้ดีมันก็ต้องมีจอภาพแบบ Wind Screen ที่ดูได้อย่างทั่วถึง พร้อมเครื่องเล่น DVD เพื่อการใช้งาน ตามรูปแบบของรถครอบครัวที่สะดวกสบายนั่นเอง

วางแผนการสร้างระบบ

เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สามารถช่วยให้ประหยัดเวลา และงบประมาณ รวมไปถึงการเพิ่มเติมระบบในอนาคตได้ เพราะจะอย่างไรเสียระบบเสียงในรถยนต์ก็ยังคงยืนอยู่บนพื้นฐานของ 3 หลักใหญ่ๆดังนี้คือ

  1. ระบบเสียงที่ใช้ไฮเพาเวอร์อย่างเดียว
  2. ระบบเสียงที่ผสมผสานกันระหว่างการใช้ไฮเพาเวอร์ และเพาเวอร์แอมป์จากภายนอก
  3. ระบบเสียงที่ใช้เพาเวอร์แอมป์จากภายนอกอย่างเดียว

งบน้อยควรเริ่มด้วยไฮเพาเวอร์

ระบบเสียงแบบไฮเพาเวอร์คือการใช้ภาคขยายในเฮดยูนิตในการขับชุดลำโพง หน้า/หลัง แต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องใช้เพาเวอร์แอมป์จากภายนอกช่วย ซึ่งยังแบ่งย่อยๆได้อีก 2 ลักษณะคือ…

  • ไฮเพาเวอร์ หน้า/หลัง คือการใช้ภาคขยายในตัวของเฮดยูนิตแบบ 4 แชนแนล ที่ใช้ 2 แชนแนลแรกขับลำโพงคู่หน้า และอีก 2 แชนแนลที่เหลือขับลำโพงคู่หลัง โดยเสียงที่ได้จากลำโพงทั้ง 2 ชุดจะเป็นการเล่นเสียงในแบบฟลูเรนจ์ทั้งหมด

20120426103754-329121234

  • ไฮเพาเวอร์ ฟร้อนท์สเตจ เป็นการใช้ภาคขยายในเฮดยูนิด 2 แชนแนลแรกขับลำโพงคู่หน้าแบบแยกชิ้นพร้อมครอสโอเวอร์ที่ปรับให้เป็นเสียงแบบไฮพาส ส่วน 2 แชนแนลหลังจะใช้ครอสโอเวอร์แยกเสียงให้เป็นโลว์พาสสำหรับขับลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่กินวัตต์ไม่มากพวกวอยซ์คู่ที่วีความไวระดับ 94 dB ขึ้นไป

ขยับขยายด้วย ไฮเพาเวอร์ / เพาเวอร์แอมป์

เป็นระบบที่ใช้ภาคขยายในตัวเฮดยูนิตทำงานร่วมกับเพาเวอร์แอมป์ที่ตอดตั้งจากภายนอกตังแต่ 2 แชนแนลขึ้นไปให้ทำงานได้อย่างเหมาะสมกับความต้องการด้านความดังของเสียง และยังช่วยประหยัดงบประมาณที่ไม่จำเป็นไปได้อีกส่วนหนึ่ง

  • ไฮเพาเวอร์ / ฟลูเร้นจ์ ยังคงรักษารูปแบบของเสียงที่เป็นแบบฟลูเร้นจ์เอาไว้ แต่ได้ความดังในระดับที่น่าพอใจเพิ่มเข้ามาด้วยการใช้ไฮเพาเวอร์ขับลำโพงคู่หน้า แล้วใช้เพาเวอร์แอมป์แบบ 2 แช นแนล ขับลำโพงคู่หลังด้วยการปรับสมดุลความดังของลำโพง หน้า/หลัง ที่เหมาะสม หรือถ้าต้องการรายละเอียดของเสียงที่เพิ่มขึ้น อาจใช้ลำโพงคู่หลังแบบแยกชิ้น แล้วใช้ครอสโอเวอร์แยกความถี่เสียงที่เหมาะสมสำหรับลำโพงอีกทีก็ได้

20120426103732-598640100

  • ไฮเพาเวอร์ / ซับวูฟเฟอร์ เป็นระบบที่ใช้ภาคขยายไฮเพาเวอร์จากเฮดยูนิตทั้ง 4 แชนแนลในการขับลำโพงคู่ หน้า/หลัง อย่างละชุด โดยใช้เพาเวอร์แอมป์แบบ 2 แชนแนลบริดจ์สำหรับขับลำโพงซับวูฟเฟอร์ โดยใช้ครอสโอเวอร์ในเพาเวอร์แอมป์กรองความถี่ต่ำให้เป็นโลว์พาสทั้งหมด

20120426103733-1061435659

  • ไฮเพาเวอร์ / ฟร้อนท์สเตจ เป็นการใช้ไฮเพาเวอร์ของเฮดยูนิต จะเป็น 2 แชนแนล หรือ 4 แชนแนลก็ตามขับลำโพงแยกชิ้นในชุดหน้าทั้งหมดด้วยเสียงแบบไฮพาส และใช้เพาเวอร์แอมป์ 4 แชนแนลขับลำโพงแยกชิ้นชุดหลังด้วยเสียงแบบไฮพาสเช่นกัน โดยใช้อีก 2 แช นแนลที่เหลือบริดจ์ขับลำโพงซับวูฟเฟอร์ด้วยการปรับครอสโอเวอร์ให้เป็นแบบโล ว์พาส ซึ่งระบบนี้เป็นชุดประหยัดงบประมาณและคุ้มค่าต่อการใช้งานอีกระบบหนึ่ง

20120426103734-242243346

  • คุ้มค่าด้วยระบบ ไบแอมป์ / ฟร้อนท์สเตจ เป็น ระบบเสียงแบบใช้เพาเวอร์แอมป์จากภายนอกเพียงอย่างเดียวที่คุ้มค่ากับการลง ทุนมากที่สุด นิยมใช้กันมากที่สุด และได้ผลมากที่สุดระบบหนึ่ง ด้วยการใช้เพาเวอร์แอมป์แบบ 2 แชนแนล หรือ 4 แชนแนลก็ได้ที่มีครอสโอเวอร์แยกย่านความถี่สูง และความถี่ต่ำภายใน โดยใช้ 2 แชนแนลแรกขับลำโพงชุดหน้าแบบแยกชิ้นด้วยสัญญาณเสียงไฮพาส และใช้ 2 แชนแนลหลังบริดจ์ขับลำโพงซับวูฟเฟอร์ หรือแยกแชนแนลกรณีที่ซับวูฟเฟอร์เป็นวอยซ์คู่ ด้วยสัญญาณแบบโลว์พาส

20120426103712-1472778798

คำนึงถึงสิ่งที่ต้องการจากระบบ

เมื่อมีการวางแผน หรือได้ระบบที่ต้องการแล้ว เรื่องต่อมาก็ต้องหมายถึงสภาพเสียง หรือคุณภาพเสียงที่ต้องการ หรือรูปแบบของเสียงที่ต้องการ กว่าร้อยละ 90 ที่ต้องการก็คือระบบที่ให้เสียงแบบสเตอริโอ ได้ใสสะอาดเป็นหลัก พร้อมด้วยเบสที่แน่นกระชับ ซึ่งนั่นมันก็หมายความว่า ลำโพงที่ใช้มันก็ต้องเป็นลำโพงแบบแยกชิ้น โดยมีเพาเวอร์แอมป์คุณภาพดีที่ให้เสียงได้สะอาดสะอ้าน ขนาดสัก 75-150 วัตต์ ที่มาพร้อมกับกำลังขับอย่างพอเพียงสำหรับขับลำโพงซับวูฟเฟอร์ด้วย

ควรพิจารณาสิ่งที่มีอยู่แล้วกับสิ่งที่ต้องเพิ่ม

เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ต้องพิจารณาว่าระบบดั้งเดิมที่มากับรถยนต์เป็นแบบไหน และต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด อย่างเฮดยูนิต หรือปรีแอมป์ ถ้า เปลี่ยนใหม่ควรเลือกในแบบที่สามารถวางเข้าไปในช่องเดิมของมันได้เลยน่าจะดี กว่า ส่วนที่ลำโพงนั้น ส่วนใหญ่คงต้องทีการปรับปรุงกันบ้างเล็กน้อย สำหรับลำโพงด้านหน้า และด้านหลัง ถ้าต้องการเปลี่ยนเป็นลำโพงแบบแยกชิ้น เพื่อให้ได้มิติเสียงที่ดีขึ้น ส่วนเพาเวอร์แอมป์ควรมีการติดตั้งใหม่ สำหรับขับลำโพง หน้า/หลัง และสำหรับการขับลำโพงซับวูฟเฟอร์

สิ่งที่เต็มใจจะเปลี่ยน เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ

นั่นก็หมายถึงงบประมาณที่ต้องจ่ายเพื่อให้มา อย่างเฮดยูนิตตัวใหม่ ที่เล่น DVD และ MP3 ได้ หรือจะเป็นเพาเวอร์แอมป์ตัวใหม่ที่มีกำลังขับอย่างเหมาะสมสำหรับลำโพงแยก ชิ้น และลำโพงซับวูฟเฟอร์ พร้อมตู้ลำโพงแบบพิเศษสำหรับลำโพงซับวูฟเฟอร์ กับสายสัญญาณและสายไฟที่เดินใหม่ทั้งหมด… ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องคิดให้ดีว่าพร้อมจะจ่ายขนาดไหน

พิจารณาถึงสิ่งที่ไม่ต้องการสูญเสีย

ในที่นี้หมายถึงพื้นที่สำหรับเก็บสัมภาระท้ายรถ ซึ่งยังคงมีความจำเป็นอยู่ที่จะต้องมีสำหรับเก็บยางอะไหล่ที่ต้องใช้งานได้ อย่างสะดวก และคล่องตัว บางทีอาจรวมไปถึงที่ว่างสำหรับถุงกอล์ฟที่จำเป็นต้องมีไว้ ในกรณีนี้บางทีอาจต้องลดขนาดของตู้ลำโพงลงบ้าง เอาตู้สัก 1 ลูกบาศก์ฟุต สำหรับ ซับวูฟเฟอร์ ขนาด 10 นิ้ว พร้อมเพาเวอร์แอมป์ขนาดย่อมๆให้พอดีกับมันก็น่าจะใช้ได้ หรืออาจเปลี่ยนมาใช้ BassBox แทนก็ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาด้วย

อย่ามองข้ามข้อจำกัดของรถ และงบประมาณ

บางทีการเลือกระบบ และอุปกรณ์เครื่องเสียงนั้น ก็ต้องพิจารณาข้อจำกัดของรถไว้บ้าง อย่างเช่นพื้นที่ว่าง และความหนา/ความลึกของประตูรถ หรือขนาด และความลึกของแผงหลัง รวมถึงเรื่องของขนาดความกว้าง และความลึกของช่องใสเฮดยูนิตที่มีด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นอุปสรรคที่อาจต้องมีการแก้ไข เมื่อต้องการวางระบบอย่างที่ตั้งใจไว้ให้ได้

  • กรณีของซับวูฟเฟอร์ ใน กรณีที่มีงบประมาณไม่พอ หรือมีพื้นที่ไม่เพียงพอสำหรับการติดตั้งซับวูฟเฟอร์ขนาดใหญ่ อาจแก้ไขได้ด้วยการลดขนาดของซับวูฟเฟอร์ให้เล็กลง แต่เพิ่มชิ้นให้มากขึ้นก็ได้ หรือในกรณีที่ไม่สามารถที่จะตีตู้สำหรับซับวูฟเฟอร์แบบคู่ได้ก็สามารถ เปลี่ยนมาใช้ซับวูฟเฟอร์เพียงตัวเดียวสำหรับระบบแทนก็ได้
  • กรณีของ เฮดยูนิต หรือในกรณีที่ช่องที่คอนโซลมีขนาดไม่ใหญ่พอที่จะเล่น เฮดยูนิด แบบ 2 DIN ได้ เราก็อาจต้องมีการแก้ไข หรือออกแบบโครงสร้างของ Dash ใหม่ หรือหาชุด KID สำหรับ เฮดยูนิต แบบ 2 DIN มาติดตั้งแทน
  • กรณีของ เพาเวอร์แอมป์ เพาเวอร์แอมป์ กรณีที่ต้องการประหยัดเนื้อที่อาจจะวางระบบด้วยเพาเวอร์แอมป์ แบบ 4 CH เพียงตัวเดียวแทนการใช้เพาเวอร์แอมป์แบบ 2 CH สองตัวก็ได้ หรือบางกรณีก็อาจจะใช้ภาคขยายของเฮดยูนิดขับลำโพงด้านหน้าแทน แล้วใช้ เพาเวอร์แอมป์ ขนาด 4 CH อีกหนึ่งตัวสำหรับขับลำโพงที่แผงหลัง และลำโพง ซับวูฟเฟอร์แทนก็ได้ขึ้นอยู่กับการวางระบบ

เลือกซื้ออุปกรณ์ต้องมีเชิง

ในเบื้องต้นของการเลือกซื้ออุปกรณ์ต่างๆนั้นในขั้นแรก หรือในเบื้องต้นเราจะอาศัยการพิจารณาถึงความเสียหายของอุปกรณ์เป็นหลัก ซึ่งสามารถพิจารณาได้จากสิ่งต่อไปนี้

  1. ให้ดูว่าอุปกรณ์นั้นๆมีรอยขีดข่วน หรือมีตำหนิใดๆหรือไม่ ถ้ามีก็ควรขอเปลี่ยนในทันที
  2. ให้ดูว่าที่ตัว Cash มีรอยแตกหัก หรือมีส่วนเกินใดๆยื่นออกมาหรือเปล่า ถ้ามีควรเปลี่ยนตัวใหม่
  3. ทดลองพังดูว่ามีเสียงรบกวนใดๆที่แปลกๆหรือไม่
  4. ตรวจดูสภาพความเรียบร้อยของลูกบิด และปุ่มต่างๆว่ามีครบ และอยู่ในสภาพเรียบร้อยดี สามารถใช้งานได้             ตามความต้องการหรือไม่
  5. แอบเขย่าดูว่ามีเสียงอะไรที่ดังแปลกๆแบบไม่น่าไว้ใจหรือไม่
  6. กรณีของลำโพง ให้ตรวจสอบดูที่รอบตัวกรวย หรือ Cone ของลำโพง และขอบรอบๆลำโพงว่ามีส่วนใด                 ชำรุดเสียหายหรือไม่
  7. ควร ตรวจสอบดูว่ามีสายโลหะใดๆแนบชิด หรือโผล่มาจากตัวแม่เหล็กของลำโพงแบบแปลกๆหรือไม่ ถ้ามี               แสดงว่าลำโพงตัวนั้นได้มีการดัดแปลงแก้ไข หรือมีการดัดแปลงมาแล้ว ซึ่งในระยะสั้น เสียงของอาจดีเกิด               ความคาดหมาย แต่ในระยะยาวไม่เป็นผลดีเพราะอาจจะพังในที่สุดจากการทำงานที่ Overload
  8. ตรวจ สอบดูว่ากล่องที่ใส่อุปกรณ์นั้นๆ เป็นของแท้และดั้งเดิม พร้อมทั้งตรวจสอบดูว่า มีคู่มือการใช้งาน และ             การติดตั้งหรือไม่ ถ้ามีแสดงว่าผู้จำหน่ายมีการเอาใจใส่ แลดูแลสินค้าของไว้เป็นอย่างดี
  9. ตรวจ สอบด้วยว่ารหัสสินค้าถูกต้องตามความเป็นจริง ถ้าไม่มีอาจเป็นของหนีภาษี หรือของขโมยมา หรือไม่             ก็เป็นสินค้าที่ผ่านการซ่อม หรือมีการดัดแปลงมาแล้ว…

อย่ามองข้ามถึงความเข้ากันได้ของอุปกรณ์

โดยทั่วไปแล้วของระบบเสียงในรถยนต์นั้น มันต้องมีการวางแผนและออกแบบการวางระบบกันเสียก่อนครับ เพราะว่าอุปกรณ์ต่างๆของระบบเสียงรถยนต์นั้น ไม่ได้มีมาตรฐานการเชื่อมต่อในแบบเดียวกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของระดับสัญญาณอินพุท และเอาท์พุท ที่ ต้องเลือก และปรับระดับให้มีความสมดุลกัน เพราะในเรื่องของเครื่องเสียงรถยนต์นั้น มันต้องมีการปรับแต่งกันตามรูปแบบ และสถานการณ์ด้วย ซึ่งในเบื้องต้นนี้มีวิธีการเลือกดังนี้

เฮดยูนิต

เป็นส่วนเริ่มต้นของระบบอันจะหมายถึง วิทยุ ซีดี เทป ควรเลือกในแบบที่มีสายสัญญาณ เอาท์พุท ที่เป็นแบบ RCA แจ็คอย่างน้อย 1 คู่ สำหรับการเพิ่มเติมระบบในอนาคต คือถ้าเฮดยูนิตไม่มีเอาท์พุทแบบ RCA แจ็คอย่างที่ว่า ถ้าต้องการเพิ่มเติมระบบในอนาคต ก็จำเป็นต้องหาสาย Converter มาใช้สำหรับการเปลี่ยนสายลำโพงทั่วไปให้เป็น RCA แจ็คแทน

20120426105900-317494014 20120426105901-1933857266

       นอกจากนั้น ในการเชื่อมต่อของสัญญาณระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น EQ, ครอสโอเวอร์ และเพาเวอร์แอมป์ ที่โดยมากล้วนแต่มีการออกแบบให้เชื่อมต่อด้วยสายสัญญาณแบบ RCA เสียเป็นส่วนมาก

20120426105859-2084420938

โดยทั่วไปแล้วส่วนประกอบของเครื่องเสียงรถยนต์นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นในแบบของ Unbalanced ที่จะสามารถเชื่อมต่อกันได้ด้วยสายสัญญาณแบบ RCA ทั่วไปได้ แต่เราก็ต้องดูกันให้ลึก หรือเฉพาะเจาะจงลงไปอีกว่าอุปกรณ์นั้นๆเหมาะกับการเชื่อมต่อเข้าด้วยกันหรือไม่

ในส่วนของเฮดยูนิตจะดูกันที่ เอาท์พุท โวลท์เตจ (Output Voltage) คือโดยทั่วไปนั้นจะมีระดับโดยประมาณอยู่ที่ 0.5 -2 V แต่ถ้าสามารถเลือกได้ในระดับตั้งแต่ 2 V ขึ้นไป ก็แสดงว่าเฮดยูนิตตัวนั้นเข้าขั้นว่าเป็น Hi-End Unit เพราะ ว่าการที่ เฮดยูนิต มีระดับของ เอาท์พุท โวลท์เตจ ที่สูงๆนั้นจะมีส่วนในการช่วยลดสัญญาณรบกวนในระบบลงไปด้วย กล่าวคือยิ่งในเฮดยูนิตที่มี เอาท์พุท โวลท์เตจ สูงเท่าไรระดับของสัญญาณรบกวนมันก็ยิ่งต่ำลงเท่านั้น แต่ในทางกลับกันถ้า เฮดยูนิต ที่มีค่า เอาท์พุท โวลท์เตจ ในระดับต่ำๆนั้นก็ใช่ว่าจะมีแต่ความเลวร้ายซะเสมอไป ตราบใดที่ยังไม่มีแผนการสำหรับนำรถยนต์ไปเข้าแข่งขันเครื่องเสียงเพื่อเอา แชมป์

Signal Processors

อุปกรณ์พวก Signal Processors นั้นจะประกอบไปด้วย ครอสโอเวอร์ เน็ทเวิร์ค, EQ และ อื่นๆ อุปกรณ์พวกนี้ มีสิ่งที่ต้องดูอยู่สองจุดใหญ่ๆก็คือ อินพุท โวลท์เตจ และ เอาท์พุท โวลท์เตจ ซึ่งการที่เราจะเลือกเข้ามาใช้ในระบบนั้น ต้องดูในแบบที่มีความสมดุลกับเฮดยูนิต กล่าวคือค่าของ อินพุท โวลท์เตจ ใน Signal Processors นั้นควรจะมีค่าเท่ากับ เฮดยูนิต หรืออย่างน้อยมันก็ควรจะมีค่าที่ใกล้เคียงกัน เพราะว่าอย่างกรณีที่ เฮดยูนิต มีค่า เอาท์พุท โวลท์เตจ ขนาด 4 V แต่ ตัวของ Signal Processors เองกลับรับค่าของ อินพุท โวลท์เตจ ได้เพียงแค่ 2 V มันก็อาจก่อให้เกิดปัญหาของการ Overload เกิดขึ้นได้ ในทางกลับกันถ้าตัว เฮดยูนิต กับตัวของ Signal Processors เองถ้าอยู่ภายใต้การจัดการของสัญญาณที่มีมาตรฐานเดียวกันแล้ว มันจะสร้างความสมดุลให้กับระบบได้ดีกว่า และเป็นผลดีต่อระบบได้มากกว่า

นอกจากนั้นอาจมี Signal Processors บางรุ่น ที่สามารถจะปรับแต่งสัญญาณของ อินพุท โวลท์เตจ และ เอาท์พุท โวลท์เตจ ได้ ซึ่งจะช่วยได้มากในการสร้างความสมดุลให้ระบบ หรือถ้าได้แบบมีทั้งสองอย่างในตัวเดียวกันก็จะดีมาก เพราะว่าทั้งดีต่อระบบ และดีต่อสัญญาณที่จะเข้าสู่ เพาเวอร์แอมป์ ที่อาจเกิดสัญญาณรบกวนได้ แม้ว่ามันจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมากก็ตามที

เพาเวอร์แอมป์
           เพาเวอร์แอมป์ โดยมากจะมีรูปแบบการจัดการของสัญญาณ อินพุท โวลท์เตจ เหมือนกันกับ Signal Processors คือต้องแน่ใจได้ว่า ระดับของ อินพุท โวลท์เตจ ของเพาเวอร์แอมป์ ตัวนั้นๆมันมีความสามารถที่จะรองรับกับ เอาท์พุท โวลท์เตจ ของ เฮดยูนิต หรือ Signal Processors ที่เราใช้ในระบบได้ ซึ่งแรงดันไฟฟ้าขาเข้าที่ว่านี้ มันต้องไม่เกินขนาดที่กำหนดไว้ ไม่เช่นนั้นมันก็อาจก่อให้เกิดการ Overload หรือเกิดการคลิปของสัญญาณขึ้นได้เช่นกัน}

honor_jpeg   mb_jpeg   johnnie_jpeg   judge_jpeg   maxma-2_jpeg   konrukdee_jpeg   ma_jpeg   gip_jpeg   exad_jpeg   option_jpeg   adison_jpeg   xcaliber_jpeg   rifle_jpeg   lefven_jpeg   cube_jpeg   kingdom_jpeg   ssf_jpeg   mafia_jpeg   taurus_jpeg

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save
%d bloggers like this: